วันที่ 7 ตุลาคม 2565 ที่ อาคาร X-Terminal ท่าอากาศยานภูเก็ต นางฉฎาณิศา ชำนาญเวช รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานท่าอากาศยานภูมิภาค) ผู้แทน กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธีสงฆ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 34 ปี การดำเนินงานท่าอากาศยานภูเก็ต ภายใต้แนวคิด “Prime Destination through Secondary Hub Airport”
โดยมีนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต, นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต, นายการันต์ ธนกุลจีรพัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง (ผดม.), หัวหน้าส่วนราชการ, ผู้ประกอบการ, บริษัทสายการบิน, ส่วนราชการที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ท่าอากาศยานภูเก็ต, ผู้นำชุมชนโดยรอบท่าอากาศยานภูเก็ต และแขกผู้มีเกียรติในจังหวัดภูเก็ต ร่วมเป็นเกียรติแสดงความยินดีในงานดังกล่าว โดยมีนายมนต์ชัย ตะโหนด ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต (ผภก.) พร้อมผู้บริหารและพนักงานท่าอากาศยานภูเก็ต ร่วมให้การต้อนรับ
โอกาสนี้นายมนต์ชัย ตะโหนด ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต พร้อมด้วย นางกัลยรัตน์ สุทธิพัฒนกิจ รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต สายสนับสนุนธุรกิจ (รภก.(สธ.)) และ นายมนัส โสธารัตน์ รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ตสายปฏิบัติการและบำรุงรักษา (รภก.(ปร.)) ร่วมแถลงข่าวการดำเนินงานท่าอากาศยานภูเก็ตในปีที่ผ่าน โดยระบุว่า นับจากวันรับโอนมาจากกรมการบินพาณิชย์ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2531 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โดยท่าอากาศยานภูเก็ต ได้ดำเนินงานและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานเพื่อมุ่งมั่นยกระดับคุณภาพการให้บริการ
โดยคำนึงถึงการบริการและมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยในระดับสากล ปัจจุบันท่าอากาศยานภูเก็ตจัดเป็นท่าอากาศยานศูนย์กลางรอง (Secondary Hub Airport) จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง ภายใต้แนวคิด “Prime Destination through Second ary Hub Airport” เพื่อเป็นประตูหลักสู่แหล่งอารยธรรมและสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามทางภาคใต้ฝั่งอันดามันของประเทศไทย ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้คลี่คลาย
ส่งผลให้จำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารเดินทางมายังจังหวัดภูเก็ต มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ในเดือนมกราคม -สิงหาคมที่ผ่านมา มีเที่ยวบินที่ทำการบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ จำนวน 9,167 เที่ยวบิน และผู้โดยสารจำนวน 849,406 คน สำหรับในปี 2566 คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนเที่ยวบิน ที่จะทำการบิน มายังท่าอากาศยานภูเก็ต จำนวนมากกว่า 88,043 เที่ยวบิน และคาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารที่จะมาใช้บริการมากกว่า 13 ล้านคน
นายมนต์ชัย กล่าวด้วยว่า ในปีที่ผ่านมาท่าอากาศยานภูเก็ตมีแผนพัฒนาและดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ปลอดภัยรอบทางวิ่ง หรือ Runway Strip, Runway End Safety Area (RESA) เพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการและอากาศยานที่ทำการขึ้น-ลง ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต ซึ่งสอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) รวมถึงการปรับปรุงระบบรางระบายน้ำ ภายในเขตการบิน (Airside)
นอกจากนั้น ท่าอากาศยานภูเก็ตยังคำนึงถึงการบริหารจัดการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวก ให้มีความพร้อมต่อการรองรับผู้ใช้บริการให้ได้รับความสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น กว่า 34 ปี การดำเนินงานของท่าอากาศยานภูเก็ต มีความพร้อมในการพัฒนาและขับเคลื่อน รวมทั้งได้ให้ความสำคัญกับการดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการดำเนินงานธุรกิจท่าอากาศยาน พร้อมก้าวเข้าสู่การดำเนินงานปีที่ 35 อย่างมีคุณภาพเพื่อสร้างความมั่นใจและความพึงพอใจให้กับผู้ใช้บริการท่าอากาศยานภายใต้คำขวัญ “ปลอดภัยคือมาตรฐาน บริการคือหัวใจ”