เมื่อเร็วๆ นี้ ที่หอประชุมใหญ่ PKRU มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ผศ.ดร.หิรัญ ประสารการ รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เป็นประธานเปิดกิจกรรมเสริมทักษะนักศึกษา ด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม “การอบรมเชิงปฏิบัติการเครื่องมือวิศวกรสังคม เพื่อเตรียมความพร้อมในการบูรณาการการจัดการเรียนการสอนกับโครงการบริการวิชาการ”
จัดโดย สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต โดยกองพัฒนานักศึกษา ร่วมกับ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยมีอาจารย์มานพ ชาชิโย รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและเทคโนโลยีดิจิทัล อาจารย์บุญศุภภะ ตัณฑัยย์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารพันธกิจสัมพันธ์ ตลอดจน คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา เข้าร่วม
ในการนี้มีทีมวิทยากร Train The Trainer ประกอบด้วย อาจารย์วาสนา ศรีนวลใย (สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน) / อาจารย์สุทธินี พรพันธุ์ไพบูลย์ (สาขาวิชานวัตกรรมเกษตรเพื่อความยั่งยืน) / อาจารย์จุรีรัตน์ ว่องปลูกศิลป์ (สาขาวิชาการบริหารทรัพยากรมนุษย์) / นายธัชพิชัย ปิยสวัสดิ์ธาดา (กองพัฒนานักศึกษา) ร่วมถ่ายทอดเทคนิคการเรียนรู้ตามหลักวิศวกรสังคม
ผศ.ดร.หิรัญ ประสารการ กล่าวว่า กิจกรรมจัดขึ้นเพื่อเสริมทักษะนักศึกษา ด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม ซึ่งนับเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อบุคลากรและ นักศึกษาเป็นอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นมหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่ มีหน้าที่พัฒนาท้องถิ่นเป็นหนึ่งในพันธกิจของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ระยะ 20 ปี ได้มีการน้อมนำ พระราโชบายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร และขับเคลื่อนแนวนโยบายสู่การปฏิบัติในมหาวิทยาลัยราชภัฏในยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยคำนึงถึงบริบทที่แท้จริงของพื้นที่บริการในการดำเนินการ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนา อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
ประกอบกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งทั่วประเทศ ได้ขับเคลื่อนแนวทางการ ดำเนินงาน โดยมี พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ดร.นงลักษณ์ อิสโร ประธาน มูลนิธิไทยยั่งยืน พร้อมคณะ ให้การส่งเสริมและสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และมีแนวทางการ พัฒนาศักยภาพนักศึกษา ด้วยกระบวนการวิศวกรสังคม ทั้งการเสริมสร้างทักษะ SOFT SKILLS (ทักษะนักคิด ทักษะนักสื่อสาร ทักษะนักประสาน และทักษะนักสร้างนวัตกรชุมชน) และการประยุกต์ใช้เครื่องมือ 5 ชั้น วิศวกรสังคม ฟ้าประทาน นาฬิกาชีวิต Timeline พัฒนาการ Timeline กระบวนการ และ M.I.C. MODEL)
ทั้งนี้เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษาและนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่ง มีทักษะพื้นฐานของการดำเนินชีวิตร่วมกับผู้อื่น และเป็นเครื่องมือสำหรับช่วยวิเคราะห์ปัญหา ความต้องการ และสามารถนำไปใช้พัฒนาชุมชนท้องถิ่นต่อไปได้