ข่าวสังคม » เตรียมพบกับ “ตรุษจีนภูเก็ต เดือนสามบ้านเรา” ในวันที่ 15 – 17 กุมภาพันธ์ นี้

เตรียมพบกับ “ตรุษจีนภูเก็ต เดือนสามบ้านเรา” ในวันที่ 15 – 17 กุมภาพันธ์ นี้

10 กุมภาพันธ์ 2024
292   0

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 บริเวณพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายสาโรจน์ อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต แถลงข่าวตรุษจีนภูเก็ต (เดือนสามบ้านเรา) ประจำปี 2567 “Phuket Festival 2024” โดยมี นายเลิศชาย หวังตระกูลดี ผู้อำนวยการททท.สำนักงานภูเก็ต, นายพิชัยยุทธ สิงห์สหาย วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต, นายจิรวิทย์ ปิติกุลสถิตย์ ผู้จัดการปกครองศาลเจ้าปุดจ้อ, นางรัชดาภรณ์ โออิน ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต พร้อมหน่วยงานที่เยวข้อง ร่วมแถลงข่าว นอกจากนี้ยังมีคณะผู้บริหารฯ, สมาชิกสภาฯ, หัวหน้าส่วนราชการ เครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ประธานคณะกรรมการชุมชน แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน เข้าร่วมฯ

นายสาโรจน์ อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า เทศบาลนครภูเก็ต เตรียมความพร้อมในการจัดงานตรุษจีนภูเก็ต (เดือนสามบ้านเรา) ประจำปี 2567 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่องทุกปี จากการมีส่วนร่วมของเครือข่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ย่านเมืองเก่าภูเก็ต (Phuket Old Town) เป็นผู้ที่ได้ให้ความสำคัญตั้งแต่แรก ถือว่าเป็นความคิด ของคนท้องถิ่นจริง ๆ กลายมาเป็นความภาคภูมิใจของคนในภูเก็ต

โดยวัตถุประสงค์ของการจัดงาน เพื่อตระหนักถึงความสำคัญ การอนุรักษ์ย่านเมืองเก่าภูเก็ต ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตเมืองและจังหวัดภูเก็ต รวมพลังช่วยกันสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนชาวภูเก็ต ได้ตระหนักถึงคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ที่ได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษ นำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจ ในเขตเมืองและจังหวัดภูเก็ต ถือเป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่มาเพิ่มมูลค่าในการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ ให้แก่คนในท้องถิ่น

ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในการสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ของประเทศ เพื่อยกระดับและพัฒนาความสามารถ ด้านความรู้ และด้านความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย ให้สร้างมูลค่ารวมทั้งการอนุรักษ์ฟื้นฟู และพัฒนาต่อยอด ศิลปะ วัฒนธรรม และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อนำมาต่อยอดในการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ของสหประชาชาติด้านการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการจ้างงานที่มีคุณค่า รวมถึงด้านการลดความเหลือมล้ำภายในและต่างประเทศ

โดยในปีนี้ได้จัดงานภายใต้แนวคิด “Phuket Festival 2024” ความสุขครบมิติ มีประติมากรรมที่จะซ่อนอยู่ในจุดต่างๆภายในงานให้ค้นหา 8 จุด ที่เทศบาลนครภูเก็ตนำมาจัดแสดง ให้ผู้ที่มาเที่ยมชมงานไปรับ Passport Check in ได้ที่จุดรับพาสปอร์ตสามารถขอได้ทุกคน จากนั้นไปถ่ายรูปและเช็คอินเพื่อรับตราประทับ ถ้าครบทั้ง 8 จุด ก็สามารถเข้าร่วมเล่นกิจกรรม ปูนพลาสเตอร์ และ เพ้นท์กระเป๋า กิจกรรมนี้ช่วยเพิ่มบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลอง และสร้างความประทับใจ ไปกับวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์สุดล้ำค่า ภูเก็ตเป็นเมืองที่น่าค้นหา สมกับคำว่า “Discover Phuket เทศบาลนครภูเก็ต เพื่อประชาชน” โดยงานจัดขึ้นในวันที่ 15 – 17 กุมภาพันธ์ 2567 ตั้งแต่เวลา 18.00 – 23.00 น. ณ ย่านเมืองเก่าภูเก็ต (Phuket Old Town)

สำหรับ HIGHLIGHT ภายในงานมีดังนี้ จุดที่ 1 : ถุงเงินจีน ถุงเงิน ถือเป็นสัญลักษณ์ของความมงคล และสื่อให้เห็นถึงความมั่งคั่งของจังหวัดภูเก็ต โดยจะตั้งอยู่ที่บริเวณ สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี (ลานมังกร) จุดที่ 2 : มังกรทอง เทพมังกรสีทองสูงกว่า 4 เมตร เป็นตัวแทนของความแข็งแกร่ง ความตั้งใจ ความพยายาม กล้าหาญ อดทน ชาวจีนจึงถือว่า มังกร คือ จิตวิญญาณของการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ประชาชนสามารถเดินลอดท้องมังกร ขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล โดยมังกรทองจะตั้งอยู่บริเวณถนนถลาง จุดที่ 3 : หัวสิงโตเชิดอวยพร ชาวจีนเชื่อว่าสิงโตถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ แม้เพียงเสียงคำรามก็สามารถปัดเป่าวิญญาณ และสิ่งชั่วร้ายได้ โดยสิงโตจะตั้งอยู่ที่บริเวณพิพิธภัณฑ์เพอรานากันนิทัศน์

จุดที่ 4 : ว่าวโคมไฟ กลุ่มโคมไฟว่าวที่มีลวดลายสวยงาม ส่องแสงสว่าง โดยจะตั้งโดดเด่นอยู่บริเวณ บ้านเลขที่ 63 ศูนย์บริการข้อมูลทางด้านการท่องเที่ยว เทศบาลนครภูเก็ต จุดที่ 5 : หน้ากากสิงโต สื่อถึงความยิ่งใหญ่มีข้าทาสบริวารมาก มีความซื่อสัตย์ความกล้าหาญ มีโชคลาภ เป็นนักสู้ มียศศักดิ์ และชนะอุปสรรคนานานัปการ โดยจะตั้งอยู่ที่บริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว จุดที่ 6 : มังกรพันโคมไฟจีน ในช่วงเทศกาลตรุษจีน มักจะมีโคมไฟจีนสีแดง ที่เสริมสิริมงคล และเป็นแสง-สว่าง โดยจะตั้งอยู่ที่บริเวณถนนพังงา (สะพานวรสิทธิ์) จุดที่ 7: ตุ๊กตาพองลมย่าหยา ที่จะมาพร้อมชุดเครื่องแต่งกายแบบพื้นเมืองภูเก็ต มีความสูงกว่า 4 เมตร ยืนต้อนรับอยู่บริเวณหน้าโรงแรมออนออน  จุดที่ 8 : ว่าวโคมไฟ เป็นอีกกลุ่มว่าวโคมไฟที่ทอดยาวต่อจากจุดที่ 4

และอีกหนึ่ง Highlight ที่นำมาจัดแสดงอย่างยิ่งใหญ่ คือ “อุโมงค์โคมไฟมังกร” ที่มีความยาวกว่า 40 เมตร ทอดยาวบนถนนภูเก็ต ตั้งแต่แยกน้ำถึงบริเวณแยกธนาคารชาร์เตอร์ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม “การจุดเทียนแดง” ซึ่งเชื่อว่าการจุดเทียนแดงจะเสริมสิริมงคล และดวงชะตา เนื้อเทียนสีแดง แสดงถึงความเข็มแข็ง อำนาจที่แข็งแกร่ง ความกล้าหาญ ความรัก และความพลังแห่งการผลักดัน การจุดเทียนบริเวณลานมังกร ยังเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ให้ผู้เที่ยวงานมาจุดเทียนขอพรได้

กิจกรรมการแสดงบนเวที  ภายในงานทีมีความหลากหลาย ทั้งการแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่มีเสน่ห์ของชาวภูเก็ต โชว์การแสดงของเด็กๆและเยาวชนในเทศบาลนครภูเก็ตให้ได้โชว์ความสามารถ ในบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลอง ความสุข สนุกสนาน ท่ามกลางความสวยงาม ในย่านเมืองเก่าภูเก็ต จำนวน 7 เวที ประกอบด้วย

(1) เวทีหลัก (Main Stage) ณ บริเวณพื้นที่ตรงข้ามพิพิธภัณฑ์เพอรากันนิทัศน์ (2) เวทีย่อย (Mini Stage) จำนวน 6 เวที อาทิบริเวณถนนพังงา หน้าธนาคารกสิกร, บริเวณแยกแถวน้ำ, บริเวณพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว, บริเวณถนนถลาง, บริเวณหน้าสถานีอุตุนิยมวิทยาภูเก็ต, บริเวณถนนกระบี่

กิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมด้านอาหาร การออกร้านจำหน่ายสินค้าและอาหาร ในปีนี้ได้คัดเลือกร้านค้าที่จะมาออกร้านอย่างละเอียด เช่น อร่อย สดใหม่ สะอาด ถูกหลักอนามัย พร้อมมีเมนูเด็ด อร่อยมากมายหลากหลายชนิด ให้เลือกชิมกันอย่างจุใจ โดยจัดให้มีสถานที่แสดงสินค้าและอาหาร แบ่งเป็น 6 จุด รวมทั้งหมดกว่า 400 ร้านค้า

กิจกรรมขบวนแห่ Phuket Festival 2024  พบกับ ขบวนพาเหรด Phuket Festival 2024 ที่สวยงามและสร้างสรรค์ ในรูปแบบสนุกสนานและสร้างสีสันให้กับงานเป็นอย่างมาก เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนรอคอยอย่างมีความสุข เพื่อถ่ายทอดความเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นภูเก็ต การส่งต่อวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น สามารถถ่ายทอดให้เห็นถึง วิถีชีวิตในท้องถิ่น และศิลปะร่วมสมัย โดยมีริ้วขบวนที่สวยงาม จากคนทุกวัย แสดงถึงการมีส่วนร่วมของ เด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ จำนวนไม่น้อยกว่า 300 คน การจัดงาน งานตรุษจีนภูเก็ต(เดือนสามบ้านเรา) ประจำปี 2567 “Phuket Festival 2024”

error: Content is protected !!