เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2566 ที่ห้องประชุมมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายเล็ก ตันติวงศ์ไพศาล ประธานมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต เป็นประธานเปิดการอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต ประจำปี 2566 “การปฐมพยาบาลและช่วยปฏิบัติการแพทย์พื้นฐาน” ให้แก่ว่าที่อาสาสมัครฉุกเฉินการแพทย์ (EMR ) ระหว่างวันที่ 15 – 19 มกราคม 2566 โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โรงพยาบาลถลาง โรงพยาบาลป่าตอง และโรงพยาบาลฉลอง

นายอภิเชษฐ์ ยิ้มอ่อน หัวหน้าแผนกปฏิบัติทางน้ำ มูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต กล่าวว่า ตามข้อบังคับของคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ว่าด้วยการรับรองหลักสูตรการศึกษาหรือฝึกอบรมผู้ปฏิบัติการ และการให้ประกาศนียบัตรหรือเครื่องหมายวิทยฐานะแก่ผู้ผ่านการศึกษา หรือฝึกอบรม พ.ศ. 2554 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้จัดทำอำนาจหน้าที่ ขอบเขตความรับผิดชอบและข้อจำกัด ในการปฏิบัติการแพทย์ของผู้ช่วยเวชกรรมตามคำสั่งการแพทย์หรืออำนวยการ พ.ศ. 2556

ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน รวมถึงการจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรม เกณฑ์การรับรององค์กร ได้ดำเนินการตรวจรับรององค์กรฝึกอบรมปฏิบัติการแพทย์ขั้นพื้นฐาน ขั้นสูง จำนวน 36 แห่ง รวมถึงได้ออกข้อบังคับคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินว่าด้วยการกำหนดผู้ปฏิบัติการ การรับรององค์กรและหลักสูตรการศึกษาหรือฝึกอบรมผู้ปฏิบัติการ และการให้ประกาศนียบัตรหรือเครื่องหมายวิทยฐานะแก่ผู้ผ่านการศึกษาหรือฝึกอบรม พ.ศ. 2563

ทั้งนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต และโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ได้ผ่านการรับรองเป็นองค์กรฝึกอบรมดังกล่าว ตามมาตรฐานของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน และได้มีการฝึกอบรมให้แก่อาสาสมัครฉุกเฉินการแพทย์มาแล้วหลายรุ่น มูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต ได้กำหนดแผนงานโครงการอบรมให้แก่ผู้ปฏิบัติการที่ได้ปฏิบัติงานอยู่แล้วในมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต ร่วมกับโรงพยาบาลของรัฐในจังหวัดภูเก็ต และได้จัดสรรงบประมาณดังกล่าวขึ้น

โดยจัดให้มีการจัดการอบรม “การปฐมพยาบาลและช่วยปฏิบัติการแพทย์พื้นฐาน” เพื่อให้ผู้ปฏิบัติการที่ผ่านการอบรมดังกล่าวสามารถปฏิบัติงานได้ตามอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ และข้อจำกัดในการปฏิบัติการแพทย์ของผู้ช่วยเวชกรรม ตามคำสั่งการแพทย์หรือการอำนวยการ พ.ศ. 2556 และได้เป็นไปตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิฉุกเฉินแห่งชาติ พ.ศ. 2563

ซึ่งมีผู้อบรมทั้งสิ้นจำนวน 38 คน เข้ารับการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในชั้นเรียนไม่ต่ำกว่า 40 ชั่วโมง และมีการฝึกประสบการณ์ ณ ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลของรัฐในจังหวัดภูเก็ตได้แก่ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โรงพยาบาลถลาง โรงพยาบาลป่าตอง และโรงพยาบาลฉลอง เป็นเวลา 3 เดือน หลังจากจบการในชั้นเรียน












